วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ผู้จัดทำ


นางสาวกมลวรรณ ใจงาม
รหัสนักศึกษา 50152793066
ตอนเรียน A1

วัตถุประสงค์ของการตลาดระหว่างประเทศ

การที่กิจการซึ่งปกติแล้วจำหน่ายสินค้าที่ตนผลิตเฉพาะในประเทศของตนได้เปลี่ยนมาเป็นการจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศด้วยนั้น เนื่องมาจากวัตถุประสงค์หลายประการดังต่อไปนี้
1. เป็นการระบายสินค้าส่วนเกินที่ผลิตได้ในประเทศและสามารถเพิ่มรายได้ให้กิจการ กระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมในปัจจุบันทำให้กิจการสามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมหาศาล และอาจมากเกินความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ เช่น ความสามารถในการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในโรงงานหนึ่งอาจผลิตได้มากจนเกินความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ หากสามารส่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปดังกล่าวไปจำหน่ายในประเทศอื่นได้ ย่อมจะเป็นผลดีกว่าการที่จะลดกำลังผลิตให้พอดีกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ เพราะการลดกำลังการผลิตจะไม่ทำให้ต้นทุนสินค้าลดลงนอกจากนี้ยังทำให้บริษัทมีรายได้และผลกำลังเพิ่มมากขึ้น
2. เป็นการลดต้นทุนสินค้าลง ในการผลิตสินค้าออกจำหน่ายนั้น จะประกอบด้วยต้นทุนส่วนที่เป็นต้นทุนที่ผันแปรตามจำนวนผลิต เช่น ในการผลิตรถยนต์ ต้นทุนผันแปร ได้แก่ วัตถุดิบต่างๆ (Material) ที่นำมาประกอบกันขึ้นมาเป็นรถยนต์ และแรงงานโดยตรง (direct labor) ที่ใช้ในการผลิตและประกอบรถยนต์ อีกส่วนหนึ่งได้แก่ต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามจำนวนที่ผลิต ไม่ว่าจะผลิตมากหรือน้อยต้นทุนดังกล่าวก็จะคงเดิม เช่น ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ถ้าบริษัทรถยนต์ต้องจ่ายไปเป็นจำนวน 100 ล้านบาท และผลิตรถยนต์ออกจำหน่ายได้ 500,000 คัน ต้นทุนต่อคันก็จะเป็น 200 บาท แต่ถ้าจำหน่ายได้ 100,000 คัน ต้นทุนต่อคันก็จะเป็น 1,000 บาท ต้นทุนคงที่มีอยู่หลายรายการ แต่ละรายการอาจมีมูลค่า การที่กิจการสามารถขยายตลาดไปต่างประเทศโดยผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยดังกล่าวลดลงเป็นอย่างมาก
3. การขยายตลาดไปในหลายๆประเทศเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ การที่กิจการสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในหลายประเทศทำให้เป็นการลดความเสี่ยงจากการดำเนินงานมากกว่าที่จะจำหน่ายสินค้าอยู่เพียงประเทศเดียว กล่าวคือ การจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมหลายชนิด แต่ที่สำคัญได้แก่ สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว หากจำหน่ายอยู่แต่ในประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วเศรษฐกิจของประเทศนั้นตกต่ำลง ก็ย่อมจะกระทบต่อการดำเนินงานของกิจการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนคงที่สูงๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งผลิตและจำหน่ายอยู่เพียงประเทศเดียว เช่น ประเทศไทย ถ้าเศรษฐกิจประเทศไทยตกต่ำและยอดจำหน่ายรถยนต์บริษัทนั้นลดลงร้อยละ 70 อย่างต่อเนื่องประมาณ 3-5 ปี กิจการนั้นอาจต้องเลิกกิจการและหากประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีขึ้นก็ยากต่อการที่จะจัดตั้งกิจการขึ้นมาใหม่ แต่หากมีการจำหน่ายในหลายประเทศ ถ้าเกิดปัญหาในประเทศหนึ่งกิจการก็ยังอาจมีรายได้จากประเทศอื่นๆและไม่ต้องเลิกกิจการ เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไทยหมดไปก็สามารถขยายยอดขายได้ตามปกติ
4. เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีจากแหล่งต่างๆทั่วโลก ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีในโลกเกิดจากหลายแห่ง เช่น ยุโรป อเมริกาและเอเชีย การที่กิจการขยายตลาดสินค้าของตนไปยังประเทศต่างๆ จะทำให้ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับประเทศอื่นๆ เช่นการที่บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ บูอิค โอลสโมบิล เชพโรเล่ท์ ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อบริษัทขยายการดำเนินงานและขยายการตลาดเข้าไปในยุโรป บริษัทต้องมีการเรียนรู้และสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมา เนื่องจากรถยนต์ที่จะจำหน่ายในยุโรปจะต้องมีความแตกต่างจากรถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ รถยนต์ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในยุคแรกๆ จะเน้นที่ความสะดวกสบาย มีขนาดใหญ่และใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่มากๆเพื่อให้มีกำลังเพยงพอ โดยไม่คำนึงถึงการกินน้ำมันของรถยนต์เนื่องจากราคาน้ำมันในสหรัฐอเมริกามีราคาถูก แต่รถยนต์ในยุโรปจะเน้นความประหยัด มีขนาดของตัวถึงแคบ เนื่องจากหลายๆเมืองในยุโรปมีอายุหลายร้องปีและมีถนนที่มีขนาดเล็กมาก และต้องใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กเนื่องจากบางประเทศ รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่จะเสียภาษีแพงมากทั้งราคาน้ำมันในยุโรปก็แพงด้วย และจะต้องเป็นเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูงวิ่งเร็วแม้จะเป็นเครื่องขนาดเล็กก็ตาม ทำให้บริษัทเจเนอรัลมอเตอร์ (GM) ต้องพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้ทันกับคู่แข่งในยุโป รถของจีเอ็มในยุโรปได้แก่ โอเปิล จึงมีสมรรถนะสูงกว่ารถในอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี 1975 แต่ภายหลังเกิดวิกฤติการณ์น้ำมัน ทำให้จีเอ็มในสหรัฐต้องปรับรูปแบบของรถยนต์ให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพดีขึ้นกินน้ำมันน้อยจีเอ็มสามารถทำได้โดยการนำเทคโนโลยีจากโอเปิลมาใช้ได้ในทันที
5. ได้เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค กลยุทธ์ทางการตลาดในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกัน กิจการที่มีกิจกรรมทางการตลาดในหลายประเทศ อาจนำความแตกต่างกันนั้นมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างสาขาของประเทศต่างๆ เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่างๆอาจมีความแตกต่างกันในเบื้องต้น กิจการที่ขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆจึงต้องเรียนรู้และปรับผลิตภัณฑ์ของตนให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ แต่การเรียนรู้ในความแตกต่างเหล่านั้นจะทำให้เกิดแนวคิดทางการตลาดใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งสามารถนำไปใช้กับประเทศอื่นได้ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ การทำตลาด การส่งเสริมการจำหน่ายและสิ่งอื่นๆ

ที่มา : การตลาดระหว่างประเทศ , อาจารย์สุดาพร กุณฑลบุตร , พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2546

การตลาดภายในประเทศ

          หมายถึงการตลาดที่มุ่งจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศที่กิจการตั้งอยู่ เป็นลักษณะที่พบได้โดยทั่วไปในกิจการที่มีการจำหน่ายสินค้าเฉพาะท้องถิ่น โดยไม่ได้มีการจำหน่ายสินค้าของตนให้กับลูกค้าในต่างประเทศ อาจมีกรณีที่เป็นลูกค้าต่างประเทศตามแนวชายแดนแต่ยอดจำหน่ายให้กับลูกค้าตามแนวชายแดนจะมีในสัดส่วนที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับการจำหน่ายภายในประเทศ ทำให้กิจการไม่จำเป็นต้องปรับผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเหล่านั้น ปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการตลาดภายในประเทศได้แก่การเกี่ยวข้องกับการเมืองเศรษฐกิจและสังคมเพียงกลุ่มเดียวซึ่งได้แก่ภายในประเทศของตนเหล่านั้น ผลกระทบที่ได้รับจากการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจากภายนอกประเทศอาจเป็นโดยทางอ้อมไม่ใช่โดยทางตรง ลักษณะของการตลาดภายในประเทศจะเป็นเนื้อหาที่พบโดยทั่วไปในเรื่องของหลักการตลาด (principle of marketing)

ที่มา : การตลาดระหว่างประเทศ , อาจารย์สุดาพร กุณฑลบุตร , พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2546

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2553

ข่าวการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

“อลงกรณ์” บินถกรัฐมนตรี WTO ผลักดันปิดการเจรจารอบโดฮาเพื่อให้ WTO ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลก


          นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะเดินทางไปเข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ นาง Doris Leuthard ประธานาธิบดีของสวิตเซอร์แลนด์ จัดขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2553 ณ เมืองดาวอส โดยการประชุมครั้งนี้จะมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ที่เมืองดาวอส ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีทางเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียง
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ทางสวิตเซอร์แลนด์ได้ใช้โอกาสที่จะมีรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก WTO หลายรายมาเข้าร่วมการประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส จัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เพื่อให้รัฐมนตรีการค้าของสมาชิก WTO ที่สำคัญประมาณ 30 ประเทศ ได้หารือเกี่ยวกับการเจรจาการค้ารอบโดฮา เช่น สถานะการเจรจา ประเด็นที่แต่ละประเทศคาดหวังจากการเจรจา และแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ภายในของแต่ละประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของการเจรจา ซึ่งนายปาสคาล ลามี ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ที่มาเข้าร่วมการประชุมด้วย จะได้นำความเห็นของรัฐมนตรีไปพิจารณาประกอบการประเมินว่า จะสามารถปิดรอบโดฮาได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2553 นี้ได้หรือไม่ สำหรับประเทศที่ได้รับเชิญครั้งนี้ประกอบด้วยประเทศสำคัญที่มีบทบาทนำใน WTO เกือบทั้งหมดโดยสมาชิกอาเซียนที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมมีอินโดนีเซีย สิงค์โปร์ และไทย
ประเทศไทยได้แสดงบทบาทแข็งขันในการเจรจารอบโดฮาของ WTO มาโดยตลอด เพราะเรื่องสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นประเด็นเจรจาสำคัญที่ยังตกลงกันไม่ได้นั้น เป็นภาคที่มีความสำคัญต่อการค้าการส่งออกของไทยมาก สำหรับภาคบริการไทยก็ยืนยันชัดเจนว่าเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจารายสาขาในขั้นต่อไป การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้รับทราบความเคลื่อนไหวและท่าทีของประเทศต่าง ๆ เพราะในช่วงที่ผ่านมามีการหารือสองฝ่ายของประเทศใหญ่ ๆ เกิดขึ้นนอกเวที WTO แต่ยังไม่ได้นำมาแจ้งให้ทราบในระดับพหุภาคี การพบปะของรัฐมนตรีในครั้งนี้จึงจะเพิ่มความโปร่งใสให้การเจรจา และอาจนำไปสู่การตกลงกันได้ในที่สุด
นายอลงกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนสนใจติดตามการเจรจาการค้าระดับโลกมาตั้งแต่ครั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเกาะติดการประชุมคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมครั้งนี้ เป็นโอกาสให้ตนได้ย้ำให้ประเทศต่าง ๆ ทราบถึงการสนับสนุนของไทยต่อการเจรจา WTO อย่างชัดเจน ทั้งนี้องค์กรวิชาการในสหรัฐฯ ประเมินว่า หากเจรจารอบโดฮาสำเร็จจะทำให้การส่งออกของโลกเพิ่มขึ้น180-520 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี และ GDP เพิ่มขึ้น 300-700 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี อันจะช่วยลดช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาลง และช่วยบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ด้วย



ที่มา : http://www.dtn.go.th/dtn/cms/u_mnews_detail.php?idmnews=417

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

ปัจจัยสำคัญในการทำการตลาดระหว่างประเทศ ( International Marketing)

ปัจจัยสำคัญในการทำการตลาดระหว่างประเทศ ( International Marketing) ประกอบด้วย

          1. การค้นหา พิสูจน์ วิเคราะห์และวิจัย เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศ ธุรกิจที่ต้องการจะดำเนินการในตลาดระหว่างประเทศต้องค้นหา และวิจัยเพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศให้ได้ หลังจากนั้นธุรกิจต้องทำความเข้าใจกับความต้องการของลูกค้าว่าธุรกิจมีความสามารถจะตอบสนองความต้องการนั้นหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ธุรกิจจะต้องเข้าใจถึงลักษณะความเหมือนและลักษณะความแตกต่างของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่ง รวมไปถึงธุรกิจต้องทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบอื่นๆ ของตลาดระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการทางการตลาดของธุรกิจ

      2.สร้างความพึงพอใจและความพยายามในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศ หลังจากที่ธุรกิจสามารถค้นพบความต้องการของผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดระหว่างประเทศได้แล้วสิ่งที่ธุรกิจต้องดำเนินการก็คือ ธุรกิจจะต้องค้นหาว่าธุรกิจจะสร้างคุณค่าจากการผลิตสินค้าและบริการอย่างไรให้เหมาะสมกับความต้องการโดยธุรกิจจะต้องดำเนินการปรับปรุงส่วนประสมทางการตลาดอะไรบ้าง ตลอดจนธุรกิจจะวางแผนการตลาดเพื่อให้สามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะไม่ลืมก็คือ การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศนั้น ธุรกิจจะต้องสามารถสร้างผลกำไรได้ด้วยเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ การปรับปรุงกลยุทธ์ทางการตลาดระหว่างประเทศเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าธุรกิจสามารถเลือกกลยุทธ์ในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศได้หลายรูปแบบโดยธุรกิจจะต้องพิจารณาว่าการดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวต้องสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศได้นอกจากนี้ธุรกิจจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเกื้อหนุนในการเลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าวด้วย ตลอดจนธุรกิจยังต้องพิจารณาด้วยว่ากลยุทธ์ทางการตลาดที่ธุรกิจเลือกใช้นั้นต้องเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจสามารถปฏิบัติได้จริงและกลยุทธ์นั้นต้องไม่ส่งผลทางลบต่อธุรกิจ

3. ขั้นตอนการดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดให้มีประสิทธิภาพดีกว่าคู่แข่ง ภายหลังที่ธุรกิจตัดสินใจที่จะดำเนินธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศ ธุรกิจจะต้องพบกับการ แข่งขันทางด้านการตลาดที่รุนแรง โดยธุรกิจจะต้องแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจอยู่เดิม ซึ่งธุรกิจท้องถิ่นดังกล่าวอาจเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นธุรกิจที่มีรัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของหรือเป็นธุรกิจที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ธุรกิจยังต้องแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ซึ่งธุรกิจข้ามชาติเหล่านี้มักเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีความพร้อมและมีความแข็งแกร่ง ดังนั้นธุรกิจที่จะต้องการจะดำเนินการทางการตลาดในตลาดระหว่างประเทศต้องมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

4 ขั้นตอนการประสานงานการดำเนินการทางการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดในตลาดระหว่างประเทศ ธุรกิจที่ต้องการประสบความสำเร็จในตลาดระหว่างประเทศ ธุรกิจจะต้องสามารถปรับการดำเนินการทางด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เช่นธุรกิจจะต้องมีการจัดองค์กรใหม่หรือจัดรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ เนื่องจากในตลาดระหว่างประเทศนั้นธุรกิจจะต้องพบกับความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการด้านต่างๆ เช่นด้านการประสานงาน ด้านการบริหารงานของฝ่ายต่างๆ ด้านการทางการตลาด ด้านการคมนาคม ซึ่งความยุ่งและความซับซ้อนที่กล่าวมาจะทำให้ธุรกิจจะต้องมีการจัดองค์ประกอบให้มีความเหมาะสม เช่น ธุรกิจจำเป็นจะต้องมีสำนักงานขายในต่างประทศธุรกิจจำเป็นต้องมีฝ่ายต่างประเทศหรือธุรกิจอาจจำเป็นจะต้องสร้างสาขาในต่างประเทศ เป็นต้น โดยธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศจะต้องเลือกรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและต้องเหมาะสมกับองค์ประกอบภายในธุรกิจด้วย

5. ขั้นตอนที่ธุรกิจต้องเรียนรู้และต้องทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศ ตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันในด้านต่างๆ เช่น ความแตกต่างทางด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ความแตกต่างทางสภาพเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางการเมือง ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความแตกต่างของสภาพทางการตลาด ความแตกต่างของพฤติกรรมผู้บริโภค ความแตกต่างทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและความแตกต่างของระบบการเงินการธนาคาร เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ธุรกิจระหว่างประเทศต้องเรียนรู้และสร้างความคุ้นเคยเพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดได้เหมาะสมและสามารถหลีกเลี่ยงการดำเนินการทางการตลาดที่ผิดพลาดซึ่งอาจจะส่งผลทางด้านลบต่อสินค้าและธุรกิจ

ที่มา :
www1.webng.com/logisticseminar/.../International_Marketing.doc

สาเหตุและแรงจูงใจของการดำเนินธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศ

1. ตลาดในประเทศอิ่มตัว
          ตลาดภายในประเทศอิ่มตัวเกิดจากสินค้าอยู่ในช่วงที่หมดความนิยม หรือเป็นสินค้าที่
ตลาดไม่ต้องการสินค้าชนิดนั้นอีกต่อไป ช่วงตลาดอิ่มตัวธุรกิจจะไม่สามารถขยายการจำหน่ายสินค้าและบริการในตลาดภายในประเทศได้ ตลาดที่อิ่มตัวนั้นจะเป็นตลาดที่ไม่มีอนาคตสำหรับสินค้าและบริการนั้นอีกต่อไป สาเหตุของตลาดอิ่มตัวเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น สินค้าล้าสมัย ผู้บริโภคไม่ต้องการสินค้า มีสินค้าประเภทใหม่เข้ามาทดแทน สินค้าล้นตลาด เป็นต้น ซึ่งตลาดภายในประเทศอิ่มตัวเป็นสาเหตุและแรงจูงใจให้ธุรกิจจำเป็นต้องมองตลาดระหว่างประเทศ

2. สภาพการแข่งขัน
          สภาพการแข่งขันเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องก้าวไปสู่ตลาดระหว่างประเทศนั้นมี
สาเหตุหลักอยู่ 2 ประการ
ประการที่1ตลาดระหว่างประเทศอาจจะมีสภาพการแข่งขันที่มีความรุนแรงน้อยกว่าตลาดภายในประเทศ
ประการที่ 2 เป็นสาเหตุจากคู่แข่ง คู่แข่งจากตลาดต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาดภายในประเทศจึงทำให้ธุรกิจภายในประเทศจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยการไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของคู่แข่งในตลาดต่างประเทศ และสาเหตุจากการแข่งขันอีกประการหนึ่งก็อาจจะเนื่องจากคู่แข่ง ก็คือ คู่แข่งเดิมที่แข่งขันกันอยู่ในตลาดภายในประเทศหันไปดำเนินการในตลาดระหว่างประเทศ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจต้องดำเนินรอยตามคู่แข่งขันเพื่อไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในระหว่างประเทศ

3. ธุรกิจมีกำลังการผลิตที่มากเกินความจำเป็น
          ธุรกิจในภาคการผลิตนั้น โดยทั่วไปธุรกิจต้องดำเนินการผลิตให้ถึงจุดที่ประหยัดที่สุด
เรียกว่า จุดกำลังการผลิตดุลยภาพ (Optimal Capacity) ซึ่งในบางครั้งจุดกำลังการผลิตดุลยภาพนั้น ส่งผลให้ธุรกิจต้องผลิตสินค้าในปริมาณที่เกินกว่าต้องการของตลาดภายในประเทศ นอกจากนี้สำหรับสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่สามารถควบคุมปริมาณการผลิตได้ บางปีถ้าผลผลิตมากเกินความต้องการภายในประเทศ การส่งออกไปสู่ตลาดระหว่างประเทศอาจจะเป็นทางออกสำหรับปริมาณสินค้าที่มากเกินความต้องการของตลาดภายในประเทศ

4. ธุรกิจสามารถสร้างประโยชน์ในด้านสินค้า ด้านทักษะและด้านเทคโนโลยีได้มากกว่าคู่แข่งในตลาดระหว่างประเทศ
        ในกรณีที่ธุรกิจมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ดีกว่าธุรกิจรายอื่นๆ ที่ครองตลาดระหว่างประเทศอยู่ ธุรกิจมีทักษะที่ดีกว่าในการผลิตสินค้า มีความสามารถในการให้บริการที่ดีกว่าคู่แข่งตลาดระหว่างประเทศ มีเทคโนโลยีในการผลิตที่สูงกว่าหรือธุรกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่จำหน่ายอยู่ในตลาดระหว่างประเทศ ปัจจัยเหล่านี้ คือ เหตุจูงใจให้ธุรกิจไปดำเนินธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศ

5. ความแตกต่างของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
    วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของสินค้าแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันในตลาดระหกว่างประเทศแต่ละแห่ง ซึ่งความแตกต่างของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านโอกาสทางการตลาดในตลาดระหว่างประเทศ เช่น ธุรกิจสามารถนำสินค้าจากตลาดภายในประเทศที่วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สิ้นสุดแล้วไปจำหน่ายยังตลาดที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ยาวนานกว่า ซึ่งจะทำให้ธุรกิจไม่ต้องเปลี่ยนแปลงสายการผลิตและสามารถยืดเวลาการวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่ นอกจากนี้ในตลาดระหว่างประเทศที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์แตกต่างกันจนทำให้ธุรกิจสามารถนำสินค้าที่ทันสมัยจากตลาดระหว่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในตลาดภายในประเทศ

6. ความหลากหลายของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
         เนื่องจากข้อจำกัดทางสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ ทำให้ไม่มีธุรกิจใดในโลกที่สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทุกอย่าง ความแตกต่างและหลากหลายทางกายภาพทำให้ธุรกิจที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของโลกมีข้อจำกัดในการผลิตสินค้า จากข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจต้องพยายามที่จะพัฒนาสินค้าที่ตนเองสามารถผลิตได้ให้ดีที่สุด และสร้างความได้เปรียบจากสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน เช่น บริษัทไวน์ประเทศฝรั่งเศสอาศัยความได้เปรียบจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกองุ่น ปริมาณองุ่นที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ องค์ความรู้ในการทำไวน์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ไวน์จนกลายเป็นจุดแข็งและมีชื่อเสียงในตลาดระหว่างประเทศ

7. เหตุผลทางด้านธุรกิจ
          การตัดสินใจไปดำเนินธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศบางครั้งเกิดขึ้นจากเหตุผลทางด้านธุรกิจ เช่นธุรกิจต้องการเรียนรู้ในตลาดระหว่างประเทศหรือธุรกิจต้องการใช้ตลาดระหว่างประเทศในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับธุรกิจและสินค้า เป็นต้น

8. เหตุผลทางด้านการเงิน
          เหตุผลทางด้านการเงิน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจภายในประเทศก้าวสู่ตลาดต่างประเทศ เนื่องจากธุรกิจต้องการที่จะหารายได้จากตลาดต่างประเทศหรือในตลาดระหว่างประเทศมีแหล่งเงินทุนที่จูงใจมากกว่า

ที่มา :
www1.webng.com/logisticseminar/.../International_Marketing.doc

วิวัฒนาการการตลาดระหว่างประเทศ

วิวัฒนาการการตลาดระหว่างประเทศมี  5 ขั้นตอน โดยวิวัฒนาการจะเริ่มจากธุรกิจภายในประเทศและพัฒนาไปเรื่อยๆ จนธุรกิจสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจระดับโลก

1. ระยะที่ธุรกิจดำเนินการในตลาดภายในประเทศ (Domestic Marketing)

          การตลาดภายในประเทศเป็นระยะแรกเริ่มที่ธุรกิจดำเนินการทางตลาด โดยธุรกิจจะเริ่มจากตลาดภายในประเทศที่ธุรกิจนั้นตั้งอยู่ ธุรกิจภายในประเทศจะใช้ข้อมูลจากตลาดภายในประเทศเท่านั้นในการตัดสินใจทางธุรกิจและวางกลยุทธ์ทางการตลาด เช่นข้อมูลความต้องการของลูกค้าภายในประเทศ แนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ การพัฒนาเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมทางการเมืองภายในประเทศเป็นต้น คู่แข่งที่ธุรกิจภายในประเทศให้ความสำคัญนั้นจะเป็นคู่แข่งที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดท้องถิ่นเดียวกันเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นธุรกิจท้องถิ่น หรือธุรกิจระหว่างประเทศที่เข้ามาในตลาดท้องถิ่น

2. ระยะที่ธุรกิจดำเนินการส่งออกไปยังตลาดระหว่างประเทศ ( Export Marketing)

          ระยะของการส่งออกจะเกิดขึ้นหลังจากธุรกิจภายในประเทศได้ระยะหนึ่ง ธุรกิจก็อาจค้น
พบว่าในตลาดต่างประเทศ มีผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้สินค้าที่ธุรกิจเป็นเจ้าของหรือสินค้าที่ธุรกิจผลิตด้วยเช่นเดียวกัน สินค้าที่ธุรกิจมีอาจจะสามารถตอบสนองความจำเป็นสามารถตอบสนองความต้องการ และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดต่างประเทศได้ ดังนั้นธุรกิจภายในประเทศ จึงเริ่มการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังตลาดระหว่างประเทศ การส่งออกสินค้าถือว่าเป็นพื้นฐานของการเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจในตลาดระหว่างประเทศ การส่งออกเป็นวิธีการที่สะดวกและง่ายที่สุดในการเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจในตลาดต่างประเทศ

3. ระยะการพัฒนาสู่ตลาดระหว่างประเทศ (Intertional Marketing)

       ระยะการพัฒนาสู่ตลาดระหว่างประเทศเป็นระยะการพัฒนาที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ธุรกิจได้ดำเนินการส่งออกสินค้าไปยังตลาดระหว่างประทศได้ซักระนะหนึ่งธุรกิจก็อาจประสบความสำเร็จโดยมียอดจำหน่ายที่มากขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากความสำเร็จ ธุรกิจอาจจะเริ่มประสบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทำให้การส่งออกสินค้าเกิดความไม่สะดวก ซึ่งอุปสรรคของการส่งออกได้แก่
          -ความต้องการที่แตกต่างกันในรายละเอียดของสินค้าของลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่ง สินค้าชนิดเดียวกันความต้องการของลูกค้าในตลาดระหว่างประเทศอาจแตกต่างกัน
                - ความแตกต่างทางด้านกฎหมายและข้อบังคับในตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่ง
                - ความแตกต่างของอัตราค่าขนส่งและอัตราภาษีศุลกากรของตลาดระหว่างประเทศ
                - ความแตกต่างทางด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมของตลาดระหว่างประเทศ
                - การกีดกันทางการค้าของตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่ง
   อุปสรรคจากการส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดระหว่างประเทศเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินการทางการตลาดและอุปสรรคเหล่านี้สามรถบั่นทองความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ เช่น ทำให้ราคาของสินค้าแพงขึ้นและทำให้สินค้าเข้าไปจำหน่ายยังตลาดระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้น ดังนั้นธุรกิจจำเป็นที่ต้องหาทางปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และวิธีการทางการตลาดเพื่อหาทางแก้ไขและหาแนวทางหลีกเลี่ยงปัญหาและอุปสรรคจากการส่งออกเพื่อให้ธุรกิจยังคงสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศได้ดีขึ้นและยังสามารถครองความได้เปรียบจากการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ ด้วยการเลือกวิธีการอื่นๆ แทนการส่งออกซึ่งอาจจะช่วยให้ธุรกิจสามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคดังกล่าวได้เช่น เลือกการจ้างผลิตหรือการตั้งฐานการผลิตในตลาดระหว่างประเทศแทนการส่งออกสินค้า

4. ระยะการพัฒนาสู่ตลาดนานาชาติ (Multitional Marketing)

          ระยะการพัฒนาสู่ตลาดนานาชาติ เป็นขั้นตอนภายหลังจากที่ธุรกิจได้ดำเนินการในตลาด
ระหว่างประเทศได้ระยะหนึ่ง ธุรกิจก็จะมีการเรียนรู้และเข้าใจถึงลักษณพความคล้ายคลึงและลักษณะความแตกต่างของตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่ง ธุรกิจระหว่างประเทศก็จะสามารถสร้างประโยชน์ได้จากลักษณะความเหมือนและจากลักษณะความแตกต่างดังกล่าว ด้วยการแบ่งกลุ่มทางการตลาดเดียวกัน ทำให้ธุรกิจระหว่างประเทศสามารถสร้างประโยชน์จากขนาด (Economic of Scale) และประโยชน์ความประหยัดจากการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Economic of Space)
สำหรับความแตกต่างกันในตลาดระหว่างประเทศแต่ละแห่ง ธุรกิจนานาชาติจะปรับปรุงสินค้าและบริการ ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับแต่ละตลาด ถ้าธุรกิจระหว่างประเทศสามารถสร้างประโยชน์จากความเหมือนที่แตกต่างและความแตกต่างที่เหมือนได้ก็แสดงได้ว่าธุรกิจได้พัฒนาสู่การเป็นธุรกิจนานาชาติ

5. ระยะการพัฒนาสู่ตลาดระดับโลก (Global Marketing)

          ระยะการพัฒนาสู่ตลาดระดับโลกเป็นกระบวนการที่ธุรกิจพัฒนาสู่การดำเนินธุรกิจใน
ตลาดระหว่างประเทศลำดับสุดท้าย ธุรกิจที่สามารถพัฒนาสู่การเป็นธุรกิจในตลาดระดับโลกจะเป็นธุรกิจที่มีสาขากระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของโลก ธุรกิจตลาดระดับโลกจะมีการดำเนินการทางการตลาดหลายตลาดแต่การดำเนินการต่างๆ ธุรกิจระดับโลกจะให้ความสำคัญกับตลาดโลกโดยรวม ซึ่งธุรกิจตลาดระดับโลกจะให้ความสำคัญกับปัจจัย ดังต่อไปนี้
- ธุรกิจระดับโลกจะมองตลาดโลกเป็นตลาดเดียวโดยจะให้ความสำคัญกับรายรับและต้นทุนรวมของธุรกิจ
- ธุรกิจตลาดระดับโลกจะพยายามลดต้นทุน พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประสิทธิภาพและลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของแต่ละสาขาของธุรกิจที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
- ธุรกิจระดับโลกจะแลกเปลี่ยนเคลื่อนย้ายสินค้า เคลื่อนย้ายทุน เคลื่อนย้ายเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนแนวความคิด ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ข้ามสาขาของธุรกิจที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วโลก
- ธุรกิจตลาดระดับโลกจะพยายามพัฒนาการให้บริการและตอบสนองความต้องการ ความจำเป็น และพยายามสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในทุกส่วนของตลาดโลก
- ธุรกิจตลาดระดับโลกจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการติดต่อสื่อสารและเครือข่ายทางการตลาดระหว่างประเทศและเครือข่ายดังกล่าวเป็นตัวชี้นำการตัดสินใจหรือใช้ในการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดระดับโลก

ที่มา :
www1.webng.com/logisticseminar/.../International_Marketing.doc